กฎหมายฟื้นฟูกิจการได้ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว ให้สามารถขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากเจ้าหนี้เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรมอันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

กฎหมายฟื้นฟูกิจการมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับกฎหมายแรงงาน เพราะอย่าลืมว่าเจ้าหนี้แรงงานเป็นเจ้าหนี้ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ (นายจ้าง) ในเมื่อกิจการของนายจ้างมีปัญหาจะต้องฟื้นฟูแล้ว เจ้าหนี้แรงงานก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้นทุนหนี้แรงงานนั้นถือเป็นรายจ่ายคงที่แน่นอน หากนายจ้างจะต้องฟื้นฟูกิจการแล้ว เพื่อความอยู่รอด  ไม่แคล้วนายจ้างคงจะต้องมีการปรับลดค่าใช้จ่ายต้นทุนค่าแรงงานนี้ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าจ้าง ชะลอการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด  หรือลดสวัสดิการ หรือเลิกจ้างลูกจ้าง เป็นต้น

มาตรการต่างๆ ของนายจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยทั่วไปมักจะถูกนำมาใช้ตั้งแต่นายจ้างเริ่มมีปัญหาขาดสภาพคล่องแล้ว ลูกจ้างก็อยู่ในสภาพจำยอม มิฉะนั้น ธุรกิจนายจ้างก็จะไปไม่รอด ลูกจ้างอาจจะไม่ได้อะไรเลย หากนายจ้างขาดสภาพคล่องมากๆ นายจ้างอาจจำต้องเลิกจ้างลูกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของนายจ้างยังมีโอกาสฟื้นตัวกลับมาได้ หากได้รับเงินสดหมุนเวียนจากเจ้าหนี้ และ/หรือผู้ลงทุนใหม่แล้ว นายจ้างก็สามารถใช้มาตรการยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย ซึ่งเมื่อนายจ้างยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการแล้ว นายจ้างจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการทันที กล่าวคือ ห้ามมิให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายฟ้องร้องลูกหนี้ บังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อชำระหนี้ บังคับเอากับหลักประกันเพื่อชำระหนี้ และที่สำคัญก็คือ ห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้

สำหรับกลุ่มลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยนายจ้างค้างจ่ายเงินตามกฎหมายแรงงานนั้นก็จะเกิดปัญหาทันทีเพราะนายจ้างจะต้องถูกห้ามตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการชำระหนี้เงินตามกฎหมายแรงงานให้กับลูกจ้าง ลูกจ้างจะไปฟ้องศาลแรงงานก็ต้องห้ามตามกฎหมายอีก หรือจะไปร้องเรียนเจ้าหน้าที่แรงงาน นายจ้างก็สามารถอ้างข้อกฎหมายฟื้นฟูกิจการนี้เพื่อปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานแรงงานได้ โดยยังไม่ถือว่านายจ้างมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ลูกจ้างคงจะต้องรอยื่นขอรับชำระหนี้เพื่อรอรับการชำระหนี้คืนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป อย่างไรก็ตาม หนี้ที่เกิดจากนายจ้างต้องจ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งได้แก่ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษนั้น มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ในลำดับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากร นับถอยหลังขึ้นไป ๔ เดือนนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการหรือวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกจ้างคนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อลูกจ้างขอรับชำระหนี้แล้วจะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น โดยจะได้รับชำระหนี้พร้อมกับหนี้ค่าภาษีอากร แต่ลูกจ้างจะได้รับชำระหนี้เต็มตามจำนวนหรือไม่ จะได้รับชำระดอกเบี้ย และเงินเพิ่มด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเงื่อนไขการแบ่งชำระตามแผนฟื้นฟูกิจการ

แม้ว่ากฎหมายฟื้นฟูกิจการจะเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ขาดสภาพคล่อง แต่ยังมีโอกาสและความสามารถในการประกอบธุรกิจอยู่ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายจ้างสามารถหยุดการชำระหนี้ให้กับลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้นั้น แต่ก็เป็นการหยุดการชำระหนี้ไว้ชั่วคราวเท่านั้น หากแผนฟื้นฟูกิจการได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ และต่อมาลูกจ้างได้รับชำระหนี้ตามแผนแล้ว ปัญหาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างคงจบไป แต่ถ้าหากลูกจ้างได้แจ้งความดำเนินคดีอาญากับนายจ้างและผู้แทนไว้ด้วยแล้ว การเข้าฟื้นฟูกิจการจะไม่ทำให้นายจ้างได้รับความคุ้มครองในทางอาญาแต่อย่างใด นายจ้างและผู้เกี่ยวข้องคงจะต้องรับสารภาพต่อการกระทำความผิดและร้องขอให้มีการเปรียบเทียบปรับในอัตราขั้นต่ำเพื่อให้ความทางอาญานั้นเลิกกันต่อไป

………………………………………………………………………………………………..

    ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์

                                                                                                                   ที่ปรึกษากฎหมาย