นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ประกาศให้มีกฎหมายความลับทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นมา บรรดาผู้ประกอบธุรกิจได้เกิดการตื่นตัวและให้ความสำคัญกับข้อมูลทางการค้าของตน โดยการสร้างมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อป้องกันมิให้ข้อมูลทางธุรกิจของตนรั่วไหลไปถึงคู่แข่งทางการค้า แต่ใช่ว่า ข้อมูลทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจจะถือเป็นความลับทางการค้าตามกฎหมายเสมอไป ดังนั้น ความลับทางการค้าคืออะไร มีความหมายเป็นอย่างไรนั้น เราจะต้องไปพิจารณาจากคำนิยามทางกฎหมายก่อน ดังนี้

ความลับทางการค้า หมายความว่า ข้อมูลทางการค้าที่ยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากเป็นควาลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ สำหรับตัวอย่างของข้อมูลทางการค้าที่อาจถือว่าเป็นความลับทางการค้า ได้แก่ เทคนิค วิธี สูตรการผลิต ข้อมูลการบริหารธุรกิจ  ผลการวิจัย กลยุทธการโฆษณาสินค้า รายละเอียดเกี่ยวกับราคาสินค้า บัญชีรายชื่อลูกค้า เป็นต้น ซึ่งข้อมูลทางการค้าดังกล่าวนั้นนอกจากยังไม่เป็นที่รู้จักแล้วจะต้อง

-เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และ

-เป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ

ท่านผู้อ่านคงจะพอเข้าใจเบื้องต้นแล้วว่า ความลับทางการค้าคืออะไร เป็นการปูพื้นก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาของบทความเรื่องนี้  ด้วยเหตุผลที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องการป้องกันความลับทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจรั่วไหลไปถึงคู่แข่งทางการค้า ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะเป็นเจ้าของความลับทางการค้าจึงต้องจัดทำสัญญาหรือข้อตกลงรักษาความลับทางการค้าขึ้นมาเพื่อให้บุคคลใดที่ได้ล่วงรู้ความลับทางการค้าได้ลงนามให้คำรับรองต่อผู้ประกอบธุรกิจว่า จะไม่เปิดเผย เอาไป หรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าต่อบุคคลภายนอก ซึ่งในกรณีตามบทความเรื่องนี้ ผู้เขียนขอเน้นไปที่ลูกจ้างของผู้ประกอบธุรกิจเพราะเป็นบุคคลใกล้ตัวที่สุดของผู้ประกอบธุรกิจที่มีโอกาสรู้ความลับทางการค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้างที่มีตำแหน่งสำคัญและหรือมีความรู้ความสามารถพิเศษที่นายจ้างชุบเลี้ยงมาอย่างดี หากผู้ประกอบธุรกิจไม่มีสัญญาป้องกันตัวเองไว้ คู่แข่งทางการค้าอาจใช้วิธีทำลายอีกฝ่ายหนึ่งโดยการทุ่มเงินซื้อลูกจ้างคนดังกล่าวไป เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นั่นคือ ได้ทั้งลูกจ้างที่มีความรู้สามารถไปทำงานและได้รู้ความลับทางการค้าของฝ่ายตรงข้ามไปพร้อมกันด้วย

การทำข้อตกลงหรือสัญญารักษาความลับทางการค้านั้น ที่นิยมทำกันทั่วไปจะมีอยู่ ๒ วิธี กล่าวคือผู้ประกอบธุรกิจในฐานะนายจ้างได้นำข้อตกลงการรักษาความลับทางการค้าเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงาน กรณีหนึ่ง หรือ นายจ้างได้จัดทำสัญญารักษาความลับเพื่อให้ลูกจ้างลงนามไว้เป็นการเฉพาะอีกกรณีหนึ่ง

ไม่ว่านายจ้างจะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องทำสัญญาในรูปแบบใดก็ตาม เงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งที่นายจ้างที่จะต้องกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในสัญญาก็คือ การห้ามลูกจ้างไปประกอบกิจการค้าแข่งกับนายจ้าง โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่างเงื่อนไขของข้อสัญญาดังกล่าวไว้ ดังนี้      

            “ ลูกจ้างจะไม่ประกอบธุรกิจ หรือเป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น  คู่สัญญากับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันกับบริษัทหรือคล้ายกับบริษัท รวมทั้งจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของบริษัท ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะอาศัยข้อมูลการค้าอันเป็นความลับทางการค้าของบริษัทหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร หรือในวันหยุด หรือนอกเวลาการทำงานตลอดจนไม่กระทำหรือช่วยเหลือ หรือยินยอมให้บุคคลใดกระทำการดังกล่าว ตลอดระยะเวลาของการจ้างงาน และภายในกำหนดระยะเวลา…………ปี นับแต่วันที่การจ้างงานสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยกรณีใด ”

               เมื่อพิจารณาจากข้อสัญญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นายจ้างได้ห้ามลูกจ้างกระทำการใด ๆ อันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของนายจ้างทั้งในช่วงเวลาที่ทำงานเป็นลูกจ้างของนายจ้าง และยังรวมถึงเมื่อลูกจ้างได้พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างไปแล้วอีกระยะเวลาหนึ่งอีกด้วย ซึ่งข้อสัญญาดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นการห้ามการประกอบอาชีพของลูกจ้างอย่างหนึ่ง จึงมีข้อควรพิจารณาว่า ข้อสัญญานี้มีผลเป็นโมฆะกรรมหรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้บัญญัติไว้ว่า

  • บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
  • การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็นหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น

จากแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในทำนองเดียวกันว่า ข้อสัญญาห้ามประกอบกิจการค้าแข่งกับนายจ้างนั้น แม้จะถือว่า เป็นข้อตกลงที่จำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของลูกจ้างก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการจำกัดเสรีภาพของลูกจ้างในการประกอบอาชีพเฉพาะบางประเภท และภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควร (จากประสบการณ์ผู้เขียนมีตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๕ ปี) ซึ่งนายจ้างได้กำหนดขึ้นเพื่อจะปกป้องสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของนายจ้างเอง ดังนั้น ข้อสัญญานี้ไม่ถือเป็นโมฆะ

มีข้อควรพิจารณาต่อไปอีกว่า ข้อตกลงการห้ามประกอบกิจการค้าแข่งกับนายจ้างนั้น จะถือเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรมตามกฎหมายว่าข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือไม่ อย่างไรนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมาตรา ๕ ของกฎหมายข้อสัญญาไม่เป็นธรรม บัญญัติไว้ว่า

“ ข้อตกลงจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน หรือการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพซึ่งไม่เป็นโมฆะ แต่เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

      ในการวินิจฉัยว่าข้อตกลงตามวรรคหนึ่งทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้หรือไม่ ให้พิเคราะห์ถึงขอบเขตในด้านพื้นที่และระยะเวลาของการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ รวมทั้งความสามารถและโอกาสในการประกอบอาชีพการงานหรือการทำนิติกรรมในรูปแบบอื่นหรือกับบุคคลอื่นของผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ ประกอบกับทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของคู่สัญญาด้วย ”

แม้ว่า แนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาจะเห็นว่า การที่นายจ้างสร้างข้อตกลงห้ามลูกจ้างไปประกอบอาชีพที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับนายจ้างก็เพื่อจะปกป้องสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจเป็นข้อตกลงที่มีผลใช้บังคับได้ก็ตาม แต่สัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญารักษาความลับทางการค้านั้น มักจะถูกแปลความว่า เป็นสัญญาสำเร็จรูปเนื่องจากมีการกำหนดข้อสาระสำคัญไว้เป็นการล่วงหน้า จึงตกอยู่ภายใต้กฎหมายข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ศาลจึงอาศัยช่องทางนี้ที่จะเข้าไปแก้ไขปรับปรุงข้อสัญญาดังกล่าวได้ โดยศาลจะคำนึงถึงกำหนดระยะเวลาห้ามค้าแข่งนี้ว่ายาวนานเกินไปหรือไม่ ลูกจ้างได้ทำงานในหน้าที่ใดให้กับนายจ้าง ลูกจ้างได้ล่วงรู้ความลับทางการค้าของนายจ้างหรือไม่ อย่างไร ลูกจ้างได้ทำงานกับนายจ้างมายาวนานเพียงใด เพื่อนำข้อเท็จจริงดังกล่าวปรับปรุงข้อสัญญาให้มีผลบังคับกับลูกจ้างได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและสมควรแก่กรณี

                                                                                                              ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์ 

                                                                                                              ที่ปรึกษากฎหมาย