ทราบกันหรือไม่ว่า เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ ที่ผ่านมา มีการแก้ไขกฎหมายเรื่องจำนวนเงินรายได้ของลูกจ้างจากหนึ่งหมื่นบาทเป็นสองหมื่นบาท เป็นจำนวนเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายได้เพิ่มเรื่องค่าชดเชยในจำนวนเงินไม่เกินสามแสนบาทเป็นเงินที่ได้รับความคุ้มครองให้ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีอีกด้วยเช่นกัน             

              สำหรับความหมายของคำว่า “ทรัพย์สินไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคดี” คือเป็นทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่สามารถติดตามเพื่อเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาของตนได้ แม้จะได้ยึดทรัพย์ไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ไม่ชอบที่จะเอาขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นไม่ได้ ทั้งไม่อาจโอนสิทธิเรียกร้องเพื่อชำระหนี้ หรือหักกกลบลบหนี้กันได้  กรณีสิทธิเรียกร้องในบรรดารายได้ของลูกหนี้ (ลูกจ้าง) จะได้รับความคุ้มครองในจำนวนไม่เกินกว่าสองหมื่นบาท หรือค่าชดเชยในจำนวนไม่เกินกว่าสามแสนบาท ซึ่งค่าชดเชยนี้จะรวมถึงค่าชดเชยพิเศษเนื่องจากการย้ายสถานประกอบการ ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอันเนื่องมาจากนายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ ลูกหนี้เองไม่สามารถตกลงกับนายจ้างหรือเจ้าหนี้อื่นใดเป็นการล่วงหน้าที่จะโอนสิทธิของตนที่จะได้รับรายได้ และหรือค่าชดเชยตามจำนวนที่กฎหมายคุ้มครองนี้ไปโอนชำระหนี้หรือนำไปหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้รายใดได้

ด้วยเหตุที่กฎหมายมีความประสงค์ที่จะให้ลูกหนี้รับเงินจำนวนนี้นำเงินไปใช้จ่ายในการดำรงชีพของตนและครอบครัว หากปล่อยให้ลูกหนี้โอนสิทธิดังกล่าวไปชำระหนี้เสียหมดแล้ว ลูกหนี้ก็จะได้รับความเดือดร้อน ฉะนั้น หากว่า ลูกหนี้และหรือเจ้าหนี้รายใดไปกระทำการเช่นนั้นแล้ว จะถือว่า เป็นโมฆะกรรม เสมือนว่าไม่มีการชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวได้ตกเป็นเงินถึงมือลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ประสงค์จะนำเงินจำนวนนี้ไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้รายใด ก็สามารถกระทำได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

กรณีที่มีกิจการใดประกาศปิดงานหรือลดคนงาน ซึ่งจะส่งผลให้มีลูกจ้างจำนวนมากต้องตกงาน ถูกเลิกจ้าง แม้ว่าลูกจ้างเหล่านั้นจะได้รับค่าชดเชย และหรือผลประโยชน์ซึ่งได้รับจากการถูกเลิกจ้างก็ตาม  หากลูกจ้างรายใดถูกฟ้องร้องบังคับคดีไว้ก่อนแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะถือโอกาสนี้ใช้สิทธิอายัดค่าชดเชยของลูกจ้างทั้งหมดคงไม่ได้แล้ว รวมทั้งการเจรจาตกลงประนอมหนี้ใดระหว่างนายจ้างหรือเจ้าหนี้อื่นใดกับลูกจ้างที่จะโอนสิทธิเรียกร้องเพื่อชำระหนี้ หรือจะหักกกลบหนี้ระหว่างกันแล้ว ไม่ว่าจะได้ทำกันข้างในศาลหรือข้างนอกศาลก็ตาม  จะต้องเหลือเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่าเดือนละสองหมื่นบาท หรือกรณีเป็นค่าชดเชยจะต้องเหลือให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่าสามแสนบาทด้วย ลูกจ้างจะได้เหลือเงินไว้ใช้ในการบรรเทาความเดือดร้อนในระหว่างตกงานและใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตจนกว่าจะหางานใหม่ได้ก่อน เมื่อลูกจ้างได้งานใหม่แล้ว ก็จะสามารถหาเงินมาชำระคืนให้กับนายจ้างหรือเจ้าหนี้อื่นต่อไป

ท่านผู้อ่านท่านใดมีความประสงค์สอบถามปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นใด สามารถเขียนอีเมล์เข้ามาสอบถามผู้เขียนได้ที่ worasetep@gmail.com ผู้เขียนยินดีที่จะตอบปัญหาให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ


    ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์

                                                                                                                   ที่ปรึกษากฎหมาย