เออรี่รีไทร์หรือเออรี่รีไทร์เม้น (Early Retirement) เป็นคำที่กลายเป็นที่แพร่หลายในวงการแรงงาน เนื่องจากเป็นมาตรการหนึ่งที่นายจ้างนำมาใช้กับลูกจ้าง โดยให้ลูกจ้างเกษียณตัวเองก่อนครบกำหนดในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เนื่องจากนายจ้างมีความจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายระยะยาว หรือการปรับลดขนาดโครงสร้างองค์กรลง เพื่อให้ธุรกิจของนายจ้างสามารถคล่องตัว สามารถแข่งขันกับคู่แข่งต่อไปได้

เออรี่รีไทร์ บางคราวก็ถูกเรียกแบบทับศัพท์หรือที่เราเรียกเป็นภาษาไทยอย่างตรงตัวว่า “การเกษียณก่อนกำหนด” คำนี้ไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมายแรงงานฉบับไหน แต่เป็นอันทราบกันว่า เป็นมาตรการที่ถูกจัดขึ้นโดยนายจ้าง โดยอ้างอิงการเกษียณอายุของลูกจ้าง ซึ่งมักจะกำหนดไว้ที่อายุ ๕๕ หรือ ๖๐ ปีตามที่ปรากฏอยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง แต่แทนที่จะรอลูกจ้างทำงานจนถึงอายุดังกล่าว นายจ้างตกลงให้ลูกจ้างเสนอตนเองขอเกษียณตนเองก่อนกำหนด  มาตรการนี้จะสามารถช่วยนายจ้างลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว สำหรับหลักเกณฑ์การคิดคำนวณผลประโยชน์นั้น  นายจ้างมักจะนำผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับหากถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดมาเป็นที่ตั้ง บวกด้วยจำนวนปีตามอายุงานที่ลูกจ้างทำ หรือวิธีการอื่นตามที่นายจ้างกำหนดวิธีการคำนวณ เป็นต้น รวมกับเงื่อนไขอื่น เช่น ระยะเวลาการทำงาน เป็นต้น ดังนั้น ลักษณะโดยทั่วไป ของผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับจะสูงกว่าผลประโยชน์จากการเกษียณอายุตามปกติอยู่พอสมควร ทั้งนี้ เพื่อโน้มน้าวจูงใจให้ลูกจ้างสมัครเข้าสู่มาตรการนี้

เมื่อฝ่ายนายจ้างได้ประกาศใช้มาตรการเกษียณก่อนกำหนดอย่างเป็นทางการเพื่อให้ลูกจ้างทุกคนรับทราบ และสามารถสมัครเข้ามาตรการนี้ได้แล้ว  เมื่อลูกจ้างได้ยื่นใบสมัครเข้ามา นายจ้างก็จะต้องพิจารณาว่า ลูกจ้างมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขหรือไม่  ฝ่ายนายจ้างโปรดทราบว่า มาตรการนี้อาจทำให้นายจ้างสูญเสียคนดีไปได้โดยง่าย เพราะคนดีมีฝีมือสามารถหางานทำที่อื่นได้สบาย หรือลูกจ้างบางคนมีความประสงค์ที่จะลาออกอยู่แล้ว หากนายจ้างนำมาตรการนี้ออกใช้ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีของลูกจ้างที่จะได้ประโยชน์ไปด้วย เนื่องจากตามปกติ การลาออกของลูกจ้างนั้น นายจ้างไม่จำต้องจ่ายเงินชดเชยใดๆ

เงื่อนไขสำคัญของลูกจ้างผู้ประสงค์เข้ามาตรการนี้ หากได้รับการคัดเลือกจากนายจ้างแล้ว จะต้องสมัครใจลาออกจากนายจ้างพร้อมกับรับผลประโยชน์ การที่นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างลาออกนั้น เนื่องจากนายจ้างเกรงว่า หากใช้วิธีเลิกจ้าง นายจ้างอาจถูกลูกจ้างฟ้องในข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ แต่การลาออกของลูกจ้างนี้ ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิตามกฎหมายหลายประการไม่ว่า การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของลูกจ้างจากค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากการโดนออกจากงานไม่เกิน จำนวน๓๐๐,๐๐๐บาท และการใช้สิทธิเรียกร้องจากกองทุนประกันสังคม กรณีว่างงาน จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน ๑๘๐ วัน ในอัตราร้อยละ ๕๐ ของค่าจ้าง โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบสูงสุด แต่ไม่เกินเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท สำหรับกรณีลาออกด้วยความสมัครใจหรือ เออรี่ รีไทร์นั้น ก็จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน ๙๐ วัน ในอัตราร้อยละ ๓๐ ของค่าจ้าง  โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน ๑๕, ๐๐๐ บาท หากใน ๑ ปีปฏิทินมีการยื่นขอรับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานเกินกว่า ๑ ครั้ง ให้นับระยะเวลาการรับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานรวมกันไม่เกิน ๑๘๐ วัน เงินทดแทนการขาดรายได้จะจ่ายเป็นงวดเดือน โดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารตามที่ผู้ประกันตนแจ้ง

ลูกจ้างที่ประสงค์จะเข้าโปรแกรมนี้เกิดเสียดายสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับกรณีถูกเลิกจ้าง ไม่ว่า การได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี หรือการได้รับเงินประกันการว่างงาน ร้องขอให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างแทน เพื่อที่จะได้นำหนังสือเลิกจ้างไปใช้ประโยชน์ตามกรณีดังกล่าว นายจ้างเองไม่ประสงค์จะทำเป็นหนังสือเลิกจ้าง เพราะไม่ชัดเจนเรื่องเหตุเลิกจ้าง อีกทั้งเกรงว่า ลูกจ้างอาจนำไปฟ้องร้องในข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมได้ กรณีดังกล่าว จึงเป็นประเด็นที่ทำให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๓๕/๒๕๔๑ กล่าวว่า “ การที่โจทก์ได้ทำหนังสือรับเงินค่าชดเชย ค่าตอบแทนในการเลิกจ้างให้ไว้แก่จำเลยแล้วระบุว่า โจทก์ขอสละสิทธิ์ในการที่จะเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามกฎหมายต่อไปทั้งสิ้น เมื่อค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามโจทก์ฟ้องคดีนี้ มิใช่เป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของบประชาชน โจทก์ย่อมสละเงินดังกล่าวได้  การที่โจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการเรียกร้องเงินดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยอีก ” ฎีกานี้เสมือนเป็นทางออกให้กับทั้งสองฝ่าย ทำให้นายจ้างสามารเลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยทำเป็นหนังสือพร้อมกับกำหนดข้อความในบันทึกรับเงินแนบท้ายหนังสือว่า ลูกจ้างสละสิทธิเรียกร้องเงินอื่นใดตามกฎหมายอีกทั้งสิ้น แล้วให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อไว้ เพียงเท่านี้ ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ในที่สุด

ท่านผู้อ่านท่านใดมีความประสงค์สอบถามปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นใด สามารถเขียนอีเมล์เข้ามาสอบถามผู้เขียนได้ที่ worasetep@gmail.com ผู้เขียนยินดีที่จะตอบปัญหาให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

 

……………………………………………………………..

 ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์

                                                                                                                   ที่ปรึกษากฎหมาย