สำหรับบทความฉบับนี้ จะกล่าวต่อไปว่า เมื่อนายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงทำสัญญาจ้างแรงงาน และหรือสัญญารักษาความลับทางการค้าต่อกันแล้ว ในระหว่างที่ลูกจ้างได้ทำงานให้กับนายจ้าง หากลูกจ้างได้ฉวยโอกาสที่ได้ล่วงรู้ความลับทางการค้าของนายจ้าง ได้เข้าไปทำงานให้กับคู่แข่งของนายจ้างไปพร้อมกัน หรือกระทำการเป็นปรปักษ์กับนายจ้างโดยเปิดกิจการของตัวเองโดยทำงานประเภทเดียวกับนายจ้างไปพร้อมกันกับทำงานให้กับนายจ้าง กรณีเช่นนี้ จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่อง การจ้างแรงงาน ไม่ปรากฏข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ห้ามลูกจ้างกระทำการค้าแข่งกับนายจ้างในระหว่างที่เป็นลูกจ้าง แต่ที่พบก็คือกรณีของกรรมการบริษัท ซึ่งบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 วรรคสาม “ท่านห้ามมิให้ผู้เป็นกรรมการประกอบการค้าขายใดๆ อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับการค้าขายของบริษัทนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างค้าขายอื่นซึ่งประกอบกิจการมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และแข่งขันกับกิจการของบริษัท โดยมิได้รับความยินยอมของที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น” ดังนั้น ในกรณีของลูกจ้างนั้น หากมีข้อสัญญาห้ามไว้เพียงใด ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดห้ามไว้หรือไม่ เพียงใด หากไม่มีข้อสัญญา หรือข้อบังคับฯกำหนดห้ามไว้แล้ว การกระทำของลูกจ้างในกรณีเช่นนี้ จะถือว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ อย่างไร
ตามข้อสัญญาห้ามการค้าขายแข่งกับนายจ้างนั้น มักจะห้ามลูกจ้างทั้งในระหว่างทำงานเป็นลูกจ้าง และหลังจากสิ้นสุดสภาพความเป็นลูกจ้างไปอีกระยะหนึ่งด้วย แต่ก็มีสาระสำคัญอยู่ที่การห้ามลูกจ้างเฉพาะการกระทำใดอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับนายจ้างเท่านั้น อาทิเช่นกรณีที่ลูกจ้างไปทำงานช่วยคู่แข่งของนายจ้าง เห็นได้ชัดเจนว่า ลูกจ้างฝ่าฝืนสัญญาข้อนี้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ลูกค้าทำกิจการเอง จะต้องพิเคราะห์ต่อไปว่า การทำงานของลูกจ้างเป็นการแข่งขันกับนายจ้างด้วยหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป ตัวอย่างเช่น กรณีที่นายจ้างได้เสนอราคาไปให้ลูกค้าแล้ว แต่ลูกค้าไม่ตกลงใช้บริการของนายจ้าง ลูกจ้างฉวยโอกาสนี้เสนอทำงานให้ส่วนตัวในราคาที่ถูกกว่า ปรากฏว่า ลูกค้าตกลงใช้บริการ กรณีเช่นนี้ ผู้เขียนเห็นว่า การกระทำของลูกจ้างยังไม่ถือว่าผิดสัญญาข้อนี้ เนื่องจากลูกค้าไม่ตกลงใช้บริการของนายจ้างแล้ว ดังนั้น การที่ลูกค้าตกลงใช้บริการของลูกจ้าแทนจึงไม่ใช่การกระทำที่มีลักษณะตัดราคาของนายจ้างเนื่องจากล่วงรู้ความลับทางการค้าของนายจ้างอันถือเป็นการแข่งขันกับนายจ้าง
แม้ว่าการกระทำของลูกจ้างอาจจะยังไม่ถึงขนาดผิดสัญญาข้อนี้ แต่หากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงงานของนายจ้างได้กำหนดห้ามลูกจ้างนำงานอื่นมาทำงานในเวลาทำการของนายจ้างหรือที่เรียกว่า “ทำงานไซด์ไลน์” ก็อาจถือได้ว่า ลูกจ้างกระทำความผิดได้ แต่ยังไม่ถึงขนาดฝ่าฝืนข้อบังคับฯกรณีร้ายแรง แต่หากลูกจ้างทำงานนอกเวลาทำงานปกติ คงไม่อาจถือฝ่าฝืนตามข้อบังคับฯข้อนี้ อย่างไรก็ตาม หากการทำงานไซด์ไลน์เป็นการทำงานที่มีลักษณะเป็นปรปักษ์กับนายจ้างด้วยแล้วไม่ว่าลูกจ้างจะทำในหรือนอกเวลาทำงานปกติ อาทิเช่น กรณีลูกจ้างเปิดบริษัทของตนเองมีวัตถุประสงค์เดียวกับนายจ้าง โดยลูกจ้างเข้าเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทเองด้วยไปประมูลงานตัดราคาของนายจ้าง เป็นต้น แม้ว่า นายจ้างกับลูกจ้างจะไม่ได้ทำสัญญาห้ามค้าขายแข่งกันไว้ ก็ถือว่า ลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม อีกทั้งนายจ้างมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดกฎหมายแรงงานจากลูกจ้างได้อีกโสดหนึ่งด้วย
ผู้เขียนได้กล่าวถึงคือกรณีที่ลูกจ้างกระทำละเมิดต่อนายจ้างในระหว่างทำงานเป็นลูกจ้างไปแล้ว แต่ตามที่ปรากฏเป็นคดีความอยู่เสมอมักจะเป็นกรณีที่ลูกจ้างได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างแล้วไปทำงานอยู่กับคู่แข่งบ้าง หรือเปิดกิจการแข่งขันกับนายจ้างบ้าง กรณีเหล่านี้จะถือเป็นความผิดหรือไม่จะขึ้นอยู่กับข้อตกลงในสัญญาเป็นสำคัญ เนื่องจากนายจ้างและลูกจ้างไม่ได้มีนิติสัมพันธ์แบบจ้างแรงงานกันอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น หากไม่มีข้อสัญญาห้ามไว้ ถือว่า ลูกจ้างไม่ได้กระทำอะไรผิด นายจ้างไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากลูกจ้างได้
การพิจารณาข้อสัญญาห้ามกิจการแข่งขันกับธุรกิจนายจ้างนั้น จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างเช่น คำว่า “การแข่งขันทางธุรกิจ” นั้น ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ใช่เพียงแต่พิจารณาจากวัตถุประสงค์ของบริษัทว่า ได้จดทะเบียนวัตถุประสงค์ของบริษัทไว้เช่นเดียวกันแล้ว แต่อาจจะต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นขนาดการลงทุน กลุ่มลูกค้า อาณาเขตการทำธุรกิจของลูกจ้างควรจะอยู่ในขนาดที่ใกล้เคียงกับนายจ้างจึงจะถือว่า แข่งขันกันได้ เพราะหากนายจ้างมีกลุ่มลูกค้าเป็นนักธุรกิจที่ลงทุนขนาดร้อยล้านขึ้นไป แต่บริษัทลูกจ้างมีกลุ่มลูกค้าเป็น เอสเอ็มอี แล้ว กรณีเช่นนี้จะแปลความว่า ลูกจ้างไปกระทำกิจการแข่งขันกับนายจ้างก็ยังฟังได้ไม่ถนัดนัก
การเรียกร้องค่าเสียหายจากการฝ่าฝืนสัญญาห้ามค้าขายแข่งขันกับนายจ้าง ก็เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้ชัดเจน เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ค่าเสียหายที่ตนเรียกร้องมานั้นเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการฝ่าฝืนข้อสัญญาของลูกจ้าง การที่ลูกค้าเลิกซื้อสินค้าหรือใช้บริการของนายจ้างเพราะไปซื้อหรือใช้บริการจากลูกจ้างแทน หากจะให้ชัดเจนก็คงจะต้องเรียกให้ลูกค้าของนายจ้างมาเบิกความยืนยันที่ศาลให้เจือสมกัน ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น นายจ้างมักจะไม่กล้าที่จะไปรบกวนลูกค้าโดยเรียกลูกค้าเข้ามาในคดีเรื่องนี้ เพราะลูกค้าเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการได้ซื้อสินค้าหรือบริการจากลูกจ้างในราคที่ถูกลง อาจเบิกความเป็นปรปักษ์กับนายจ้างก็ได้ อีกทั้ง การที่เรียกลูกค้าเข้ามาในคดีจะทำให้ลูกค้าได้รู้เห็นเรื่องราคา หรือค่าบริการของนายจ้างซึ่งถือเป็นความลับทางการค้าของนายจ้างไปอีกด้วย
นายจ้างสามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยกำหนดค่าปรับไว้ในสัญญาแทน ะทำให้นายจ้างมีโอกาสได้รับการชดเชยค่าเสียหายได้ง่ายขึ้น แม้ว่าในชั้นศาลนั้น นายจ้างยังมีหน้าที่จะต้องพิสูจน์เรื่องความเสียหายให้ศาลเห็นอยู่ดี แต่ก็ไม่จำต้องสืบลงลึกเช่นเดียวกับการเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากการที่ศาลจะกำหนดค่าปรับให้กับนายจ้างนั้น ศาลจะต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของนายจ้างทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น หากนายจ้างสามารถพิสูจน์ถึงความเสียหายทางธุรกิจที่ไม่เป็นตัวเงินให้ศาลเห็นได้ ศาลก็สามารถกำหนดให้นายจ้างได้รับค่าปรับใกล้เคียงหรือเต็มตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาได้
การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลแรงงานที่ใช้เวลานานก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่นายจ้างเบื่อหน่าย เพราะเมื่อนายจ้างได้ฟ้องคดีไปแล้ว และตราบใดคดียังไม่จบสิ้น การฝ่าฝืนเรื่องการห้ามค้าแข่งกับนายจ้างโดยลูกค้าคงมีไปเรื่อย นายจ้างก็จะได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่อง กรณีเช่นนี้ นายจ้างอาจร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนศาลพิพากษา สั่งให้จำเลยหยุดการกระทำซ้ำที่เป็นการผิดสัญญาไว้ก่อนจนกว่าศาลจะตัดสินคดีก็ได้
ผู้เขียนหวังว่า บทความนี้ จะช่วยให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเรื่องการห้ามค้าขายแข่งขันกับนายจ้างเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม หากท่านผู้อ่านประสงค์สอบถามปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องห้ามค้าขายแข่งขันนี้หรือกฎหมายแรงงานอื่น สามารถเขียนอีเมล์เข้ามาสอบถามผู้เขียนได้ที่ worasetep@gmail.com ผู้เขียนยินดีที่จะตอบปัญหาให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ
ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์
ที่ปรึกษากฎหมาย
ความเห็นล่าสุด