ในการดำเนินธุรกิจปกติของผู้ประกอบการ (นายจ้าง) ซึ่งจะต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้นั้น ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดีแล้วส่งผลกระทบต่อธุรกิจของนายจ้างในทางลบ หากผลกระทบนั้นส่งผลให้นายจ้างประสบกับภาวะขาดทุนแล้ว นายจ้างเองก็อาจจำต้องปรับตัวเองให้อยู่รอดต่อไปให้ได้ ซึ่งมาตรการปรับโครงสร้างกิจก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายประจำของนายจ้าง ทำให้กิจการของนายจ้างสามารถดำเนินต่อไปได้ มาตรการการเลิกจ้างจึงต้องถูกหยิบมาใช้กับลูกจ้าง นายจ้างส่วนใหญ่เชื่อว่า หากนายจ้างขาดทุน ก็จะสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้อย่างเป็นธรรมแล้ว ขอเพียงแต่หากนายจ้างได้จ่ายค่าชดเชย  ค่าพักร้อนที่ไม่ได้ใช้ (ถ้ามี) หรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็เพียงพอแล้ว แต่การที่นายจ้างเลือกที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเพียงบางคน หรือบางกลุ่มนั้น นายจ้างมักจะฉวยโอกาสเลือกเก็บลูกจ้างที่มีผลการทำงานที่ดีไว้ หรือถือโอกาสจัดการกับลูกจ้างที่มีผลการทำงานไม่ดี หัวแข็ง หรือที่เป็นพรรคพวกของสหภาพแรงงาน ซึ่งหากนายจ้างทำเช่นนี้ จะถือว่า การเลิกจ้างของนายจ้างเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมทันที

โปรดจำไว้ว่า การที่ลูกจ้างคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนจะถูกเลิกจ้างเพราะบริษัทนายจ้างขาดทุนนั้น ไม่ถือว่าเหตุแห่งการเลิกจ้างนั้น เกิดจากตัวลูกจ้างโดยตรง ลูกจ้างคนดังกล่าวไม่ได้มีความผิดใด ๆ ดังนั้น การที่นายจ้างจะคัดเลือกลูกจ้างคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นบุคคลที่ถูกเลิกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกลูกจ้างที่ไม่เลือกปฏิบัติ มีเหตุผล เป็นธรรม และได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนล่วงหน้าด้วย เช่น ใช้หลักเกณฑ์ดูจากการขาด ลา มา สาย หรือเลือกเลิกจ้างที่มีอายุงานน้อยก่อนเลิกจ้างลูกจ้างที่มีอายุงานมาก เป็นต้น

นอกจากนี้ ก่อนที่นายจ้างจะใช้สิทธิเลิกจ้าง นายจ้างควรที่จะหามาตรการที่เหมาะสมและเป็นธรรมมาแก้ปัญหาก่อน เช่น ลดวัน ชั่วโมงการทำงาน  ลดค่าล่วงทำงานล่วงเวลา เป็นต้น

การปรับโครงสร้างองค์กรของนายจ้าง โดยลดจำนวนลูกจ้างลงนั้นจะต้องมาจากเหตุขาดทุนและจะต้องถึงขนาดที่หากไม่ลดจำนวนลูกจ้าง กิจการของนายจ้างจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ และการปรับลดจำนวนลูกจ้างนั้นจะต้องเป็นผลโดยตรงที่ช่วยให้กิจการของนายจ้างอยู่รอดหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้

การขาดทุนกำไร หรือการที่นายจ้างกำไรมาตลอด มีกำไรสะสม แม้ปีต่อมา นายจ้างจะขาดทุนอยู่บ้าง ก็ยังไม่เพียงพอที่จะอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างในกรณีนี้ได้

กรณีที่นายจ้างยุบตำแหน่งบางตำแหน่งลง หรือยุบแผนกทั้งแผนกอันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างองค์กร จึงจำต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ถือเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงภายหลังว่า นายจ้างรับคนอื่นเข้ามาทำงานแทนลูกจ้าง การกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

หลักเกณฑ์ที่ผู้เขียนได้กล่าวมานี้ ผู้เขียนได้เรียบเรียงมาจากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ได้วางบรรทัดฐานเกี่ยวการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ กรณีที่นายจ้างประสบกับภาวะขาดทุนไว้ว่าจะต้องพิจารณาอย่างไร  ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาในการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้าง เนื่องจากเสียลูกจ้างที่มีผลการทำงานที่ดีและอยากเก็บไว้ และหาทางเลิกจ้างลูกจ้างที่ผลการทำงานที่ไม่ดีออกไปแทน ซึ่งหากกระทำเช่นนี้ จะถือว่า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

.                                                                       ……………………………………………………………