เมื่อบทความ ผู้เขียนได้ปูพื้นฐานเพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า สหภาพแรงงาน มีที่มาที่ไปอย่างไร ส่วนภาคนี้จะว่ากันถึงบทบาทและหน้าที่ของสหภาพแรงงาน รวมทั้งการคุ้มครองทางกฎหมายซึ่งส่งผลให้สหภาพแรงงานเป็นผู้ทรงอิทธิพลกลุ่มหนึ่งในการนำมวลชน

เนื่องจากสหภาพแรงงานมีสภาพเป็นนิติบุคคล ซึ่งถือว่า เป็นนามธรรม แต่บุคคลที่กระทำการแทนสหภาพแรงงานต่างหากที่ถือว่า มีบทบาทสำคัญในการนำพาสหภาพแรงงานเพื่อทำหน้าที่ตามวัตถุที่ประสงค์ที่ได้จัดตั้งขึ้น กล่าวคือ เพื่อแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกันเอง แม้จะดูว่า สหภาพแรงงานมีวัตถุประสงค์ที่สวยหรู แต่นายจ้างก็มองว่า สหภาพแรงงานเป็นเสมือนหอกข้างแคร่อยู่ดี เพราะหาก     สถานประกอบการใดได้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นแล้ว นายจ้างจะกระทำการใดๆ ตามอำเภอใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง หรืออยากจะเปลี่ยน หรือยกเลิกสภาพการจ้างใด ก็คงจะไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อนแน่ เพราะสหภาพแรงงานมีสิทธิเข้าไปก้าวก่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของนายจ้างได้ทันที เว้นแต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นคุณยิ่งกว่าเดิม

นายจ้างมักจะพยายามไม่ให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในสถานประกอบการของตน เพราะเกรงว่า จะสูญเสียอำนาจในการบังคับบัญชาลูกจ้าง จึงพยายามสอดส่อง หรือหาข่าวสารจากลูกจ้าง หากพบว่า มีการเคลื่อนไหวของลูกจ้างเพื่อจะจัดตั้งสหภาพแรงงานแล้ว นายจ้างก็จะชิงลงมือเลิกจ้าง      หรือจ้างให้ลูกจ้างผู้เริ่มก่อการกลุ่มนี้ลาออกไป หากนายจ้างสามารถจัดการกับแกนนำเหล่านี้ได้ สหภาพแรงงานก็จัดตั้งขึ้นไม่ได้ หากนายจ้างไม่อาจยับยั้งการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ นายจ้างจะมีปัญหาทันที เนื่องจากสหภาพแรงงานมีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว ย่อมไม่ง่ายที่จะยกเลิกไป เพราะต้องมีขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมายที่จะต้องดำเนินการก่อน นอกจากนี้ การที่นายจ้างเข้าขัดขวาง แทรกแซงการดำเนินกิจการของสหภาพแรงงาน หรือบังคับขู่เข็ญให้ลูกจ้างต้องออกจาการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานนั้น อาจถือเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมได้ (Unfair Practice) นายจ้างอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับได้

เนื่องจากสหภาพแรงงานเป็นหน่วยงานที่เคลื่อนไหวแทนสมาชิกซึ่งเป็นลูกจ้าง จึงย่อมกระทบกระทั่งกับนายจ้างอยู่เสมอ กรรมการของสหภาพแรงงานก็ย่อมต้องการเกราะคุ้มกันทางกฎหมายเพื่อเป็นการประกันว่า จะไม่ถูกนายจ้างเลิกจ้างได้ง่ายๆ  ซึ่งตามกฎหมายก็ให้ความคุ้มครองบุคคลดังกล่าวโดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหา หรือฟ้องอาญาหรือฟ้องแพ่ง หากเป็นการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  • เข้าร่วมเจรจาทำความตกลงกับนายจ้าง สมาคมนายจ้าง ลูกจ้างสหภาพแรงงาน

อื่น สหพันธ์นายจ้างหรือสหพันธ์แรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ที่สมาชิกควรได้รับ

  • นัดหยุดงาน หรือช่วยเหลือ ชักชวนหรือสนับสนุนให้สมาชิกนัดหยุดงาน
  • ชี้แจงหรือโฆษณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงาน
  • จัดให้มีการชุมนุมหรือเข้าร่วมโดยสงบในการนัดหยุดงาน

นอกจากการคุ้มครองทางกฎหมายดังกล่าวแล้ว  กรรมการสหภาพแรงงานมักจะกำหนดให้ตัวเองเข้ามีสถานะเป็นกรรมการลูกจ้างด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ของการเป็นกรรมการลูกจ้างซึ่งถือเป็นเกราะป้องกันชั้นดี ทำให้กรรมการสหภาพแรงงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไม่ต้องพะวงว่า นายจ้างจะเลิกจ้าง หรือลงโทษตนหรือไม่ เพราะไม่ว่ากรณีใดๆ ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน ซึ่งกระบวนการดำเนินการเพื่อให้ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานนั้น ไม่ต่างอะไรกับการดำเนินการฟ้องร้องหรือแก้ต่างคดีแรงงาน ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการไกล่เกลี่ย สืบพยาน ตัดสิน อุทธรณ์ไปที่ศาลฎีกา หากนายจ้างจะต้องดำเนินการลงโทษสักสถานหนึ่ง หรือจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง (กรรมการสหภาพ) ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม แม้ว่านายจ้างจะเลิกกิจการก็ตาม ก็ยังจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้ด้วย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา หากถึงชั้นศาลฎีกาด้วยแล้วคงต้องใช้เวลาหลายปีทีเดียว ที่สำคัญนายจ้างก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับกรรมการลูกจ้าง (กรรมการสหภาพ) ต่อไปอย่างน้อยจนกว่าศาลแรงงานจะมีคำสั่งให้เลิกจ้างอีกด้วย

เมื่อกรรมการสหภาพแรงงานได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายขนาดนี้ การเคลื่อนไหวต่างๆ ของกรรมการสหภาพแรงงานที่กระทำเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของนายจ้าง หรือการเคลื่อนไหวใดๆ เกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ตาม จึงมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งและได้รับการสนับสนุนจากลูกจ้างโดยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือไม่ เนื่องจากหากมีการเปลี่ยนแปลงใดที่ทำให้สภาพการจ้างดีขึ้นแล้ว ผลประโยชน์ก็มักจะตกถึงลูกจ้างทุกคน รวมทั้งกลุ่มลูกจ้างซึ่งนายจ้างคิดว่า เป็นตัวแทนของนายจ้างด้วย

การที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้ความคุ้มครองแก่กรรมการสหภาพแรงงานนั้นก็เปรียบเสมือนเป็นดาบสองคมเช่นกัน เพราะบางสถานประกอบการ กรรมการสหภาพแรงงานบางคนก็ฉวยโอกาสทำหน้าที่เป็นมาเฟียในสถานประกอบการ ไม่ทำงานหรือไม่ตั้งใจทำงานประจำตามที่ได้รับมอบหมาย แต่มักจะใช้ความที่ตนเองเป็นกรรมการสหภาพแรงงานเป็นช่องทางหาประโยชน์ส่วนตัวไม่ว่า จะเป็นการปล่อยเงินกู้นอกระบบให้กับลูกจ้างด้วยกัน (ร้อยละ ๑๐ หรือร้อยละ ๒๐ ต่อเดือน) โดยใช้วิธียึดเอทีเอ็มที่เงินเดือนของพนักงานเข้าเอาไว้ หรือปล่อยสัมปทานให้เช่าพื้นที่โรงอาหารในสถานประกอบการ เป็นต้น ดังนั้น จึงถือได้ว่า สหภาพแรงงานนั้นเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างแท้จริงในสถานประกอบการ

ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์

                                                                                                                   ที่ปรึกษากฎหมาย