วันลาพักร้อน เป็นคำที่เราเรียกกันอย่างติดปาก แต่ในทางกฎหมายแรงงานที่จริงแล้วคือ วันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งวันหยุดและวันลามีความหมายในทางกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยวันหยุดนั้นจะเป็นวันที่ถูกกำหนดขึ้นให้ลูกจ้างหยุด แต่วันลานั้นเป็นเรื่องสิทธิของลูกจ้างที่ใช้เพื่อลา และเมื่อพิจารณาจากกรณีวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ บัญญัติว่า

“ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน”

                        จากกฎหมายดังกล่าว นายจ้างเท่านั้นเป็นผู้กำหนดวันหยุดให้กับลูกจ้าง ไม่ว่าจะในรูปแบบนายจ้างเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดโดยฝ่ายเดียว หรือจะใช้วิธีให้ลูกจ้างเป็นผู้นำเสนอก่อนแล้วนายจ้างเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งวิธีที่สองมักจะมีข้อโต้เถียงเสมอจากฝ่ายนายจ้างว่า การที่ลูกจ้างใช้สิทธิลาพักร้อน(หยุดพักผ่อนประจำปี)ไม่หมดเป็นเรื่องการสละสิทธิของลูกจ้างเอง ซึ่งหากพิจารณาจากกฎหมายให้ถ่องแท้จะเห็นได้ว่า การที่นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างเป็นฝ่ายเสนอวันที่ลูกจ้างประสงค์จะหยุดแล้วให้นายจ้างเป็นผู้อนุมัตินั้นก็สามารถแปลความได้ว่า นายจ้างยังคงเป็นผู้กำหนดวันลาพักร้อน(วันหยุดพักผ่อนประจำปี)ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำการตกลงกันแล้ว นอกจากนี้ ยังปรากฏคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๑๗/๒๕๔๖ กล่าวไว้ในทำนองเดียวกัน ดังนี้ “ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยผู้เป็นนายจ้างมีระบุไว้ในหมวด ๒ วันหยุดและหลักเกณฑ์การลาหยุด ข้อ ๓ วันหยุดพักผ่อนประจำปีว่า  “พนักงานที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ ๑ ปี มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า ๖ วันทำงาน โดยพนักงานจะได้รับค่าจ้างตามปกติ และบริษัทเป็นผู้กำหนดวันหยุดให้แก่พนักงานล่วงหน้า” ข้อบังคับดังกล่าวจึงมีความหมายว่า พนักงานที่ทำงานติดต่อกันมาครบ ๑ ปี มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละ ๖ วัน และได้รับค่าจ้างตามปกติโดยบริษัทเป็นผู้กำหนดวันหยุดให้ล่วงหน้า จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ แม้โจทก์จะมิได้แสดงความจำนงว่าขอลาหยุด ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยอ้างเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องกำหนดวันหยุดดังกล่าวให้โจทก์ ทั้งไม่อาจปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างตามสิทธิที่โจทก์พึงมีพึงได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

จากคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น ศาลได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า การกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นหน้าที่ของนายจ้าง โดยไม่คำนึงว่า ลูกจ้างจะแสดงความจำนงที่จะขอลาหยุดหรือไม่  หากลูกจ้างไม่แสดงความจำนงนายจ้างก็ยังมีหน้าที่จัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างจนครบจำนวน หากนายจ้างไม่จัดฯ นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้าง (โปรดสังเกต ศาลฎีกาไม่ใช้คำว่า ลูกจ้างไม่ใช้สิทธิแต่ใช้คำว่า ลูกจ้างมิได้แสดงความจำนงแทน เนื่องจากการลาหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างนั้นไม่ใช่เรื่องสิทธิของลูกจ้าง แต่เป็นเรื่องหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องจัดให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนประจำปี)

                        ผู้เขียนได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วว่า  ไม่ว่าการลาพักร้อน(หยุดพักผ่อนประจำปี)ของลูกจ้างจะกระทำโดยรูปแบบใด ก็จะต้องถือว่า นายจ้างคือผู้กำหนดให้ลูกจ้างหยุด ดังนั้น หากนายจ้างไม่กำหนดให้ลูกจ้างได้หยุดให้ครบตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของตน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา ๖๔ได้บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างแทน ดังนี้

ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงานหรือจัดให้ลูกจ้างหยุดงานน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๓ เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด”

อีกทั้งยังปรากฏคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๘๖๑/๒๕๔๗ ที่ได้พิพากษาไว้ว่า “  ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ ๓๐ วัน โดยถือตามปีปฏิทิน พนักงานสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ได้ และไม่ปรากฏว่านายจ้างได้จัดให้ลูกจ้างได้หยุดวันหยุดพักผ่อนประจำปีของแต่ละปีที่ลูกจ้างทำงาน แสดงว่านายจ้างไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ ม.๓๐ ที่กำหนดให้นายจ้างต้องกำหนดให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนประจำปีในแต่ละปีที่ทำงานหรือต้องตกลงกับลูกจ้าง เพื่อกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา ๖๔  สิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีมีอายุความ ๒ ปี ตาม ป.พ.พ. ม. ๑๙๓/๓๔(๙)”

หากนายจ้างไม่จัดให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนประจำปีครบถ้วนตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างแล้ว นอกจากนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี หากเป็นกรณีที่นายจ้างจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนด ๗ วัน นับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่าย ให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา ๗ วัน นอกจากนี้ นายจ้างยังอาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐, ๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา ๙ มาตรา ๖๔และ มาตรา ๑๔๔ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑

ผู้เขียนหวังว่า บทความเรื่องนี้คงจะช่วยไขข้อข้องใจกับการตีความเรื่องการใช้สิทธิลาพักร้อนของลูกจ้างที่ไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ครบตามที่นายจ้างกำหนดแล้ว จะได้รับการชดเชยเป็นเงินแทนหรือไม่ นายจ้างท่านใดซึ่งยังไม่เคยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลืออยู่ให้กับลูกจ้าง ก็ต้องรีบดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว มิฉะนั้น อาจต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

ท่านผู้อ่านท่านใดมีความประสงค์สอบถามปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นใด สามารถเขียนอีเมล์เข้ามาสอบถามผู้เขียนได้ที่ worasetep@gmail.com ผู้เขียนยินดีที่จะตอบปัญหาให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

……………………………………………………………..

 ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์

                                                                                                                   ที่ปรึกษากฎหมาย